ประวัติบ้านผาฆ้อง

          บ้านผาฆ้อง” หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองเลย จังหวัดเลย ระยะทาง 74 กิโลเมตร และตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของที่ว่าการอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร สำหรับการเดินทางจากตัวเมืองเลยไปตามถนนมะลิวัลย์ ทางหลวงหมายเลข 201 อยู่เยื้องกับอุทยานแห่งชาติภูกระดึง โดยเลี้ยวซ้ายไปตามถนนเข้าหมู่บ้าน 4.50 กิโลเมตร

                     ทิศเหนือ ติดกับบ้านสะพานยาว หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยส้ม
                     ทิศใต้ ติดกับบ้านช่องฝาง หมู่ที่ 5 ตำบลผานกเค้า
                     ทิศตะวันตก ติดกับบ้านซำบ่าง หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยส้ม
                     ทิศตะวันออก ติดกับบ้านห้วยส้มใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลผานกเค้า

            มี 173 ครัวเรือน จำนวนประชากร 619 คน ประกอบด้วย
6 คุ้ม ได้แก่ คุ้มใหญ่อยู่ใจกลางหมู่บ้าน มี 104 ครัวเรือน ประชากร 378 คน คุ้มผาแดง อยู่ทิศใต้ของคุ้มใหญ่ ระยะทาง 500 เมตร มี 14 ครัวเรือน ประชากร 37 คน คุ้มผาหมี อยู่ทิศตะวันตกของคุ้มใหญ่ ระยะทาง 500 เมตร มี 6 ครัวเรือน ประชากร 23 คน คุ้มผาก่ำ อยู่ทิศตะวันออกของคุ้มใหญ่ ระยะทาง 1 กิโลเมตร มี 18 ครัวเรือน ประชากร 58 คน คุ้มซำบอน อยู่ทิศตะวันตกของคุ้มใหญ่ ระยะทาง 1 กิโลเมตร มี 8 ครัวเรือน ประชากร 24 คน และคุ้มซำทอง อยู่ทิศเหนือของคุ้มใหญ่ ระยะทาง
3 กิโลเมตร มี 23 ครัวเรือน ประชากร 99 คน
           ในปี 2561 บ้านผาฆ้องถูกคัดเลือกให้เป็น “หมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี” ซึ่งขับเคลื่อนจากสำนักงานพัฒนาอำเภอภูกระดึงมาสู่หมู่บ้าน มีการสนับสนุน แหล่งท่องเที่ยว โฮมสเตย์และผลิตภัณฑ์ OTOP
ที่มาของชื่อบ้านผาฆ้อง ตามความเชื่อที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า ทุกวันพระขึ้น 15 ค่ำ ได้ยินเสียงฆ้องดัง เหมือนมีคนมาตีฆ้องอยู่ตรงหน้าผา เพราะเสียงดังออกมาจากภูเขา จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ผาฆ้อง” ที่มาของชื่อคำว่า “ผา” หมายถึง หินเป็นทางตัดแนวดิ่งของภูเขา ส่วนคำว่า “ฆ้อง” หมายถึง เครื่องบรรเลงเสียงอย่างหนึ่ง ทำด้วยทองเหลือง ตรงกลางมีปุ่ม มีหลายชนิด เช่น ฆ้องวง ฆ้องโหม่ง
(http://phakhong.otoploei.com)

ภาษาพูดบ้านผาฆ้อง

        ภาษาพูด มีสำเนียง 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทเลย บางพยางค์ออกเป็นเสียงสูงฟังดูไพเราะนุ่มนวลเป็นเอกลักษณ์ของคนเมืองเลย อีกภาษาเป็นภาษาอีสานที่มีลักษณะเหมือนการพูดแบบชาวอีสานทั่วไป ขึ้นอยู่ที่ว่าอพยพมาจากจังหวัดไหนของภาคอีสาน คนในชุมชุนส่วนใหญ่นิยมใช้ภาษาอีสานพูดสื่อสารกัน